ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ภาพการรณรงค์ทั้งสนับสนุนและคัดค้านสิทธิความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ จนถึงปัจจุบัน 28 ประเทศทั่วโลกได้ให้การรับรองความเสมอภาคในการสมรส (marriage equality) โดยการออกพระราชบัญญัติหรือใช้คำตัดสินของศาลให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฏหมาย
แม้ว่าทิศทางความเข้าใจของสังคมต่อความหลากหลายทางเพศจะมีแนวโน้มเปิดกว้างขึ้น ข้อมูลของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกลับพบสถิติที่น่าตกใจว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากยังพบเจอกับความรุนแรงหลากรูปแบบบนท้องถนน เฉพาะในเดือนตุลาคม 2561 - กันยายน 2562 มีคนข้ามเพศ (trans people) ถูกฆาตกรรมกว่า 369 รายทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกา[1] ในเชชเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมีการลักพาตัว ทรมาน และฆ่าชายรักชายโดยเป็นปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ[2] หลายประเทศยังทำให้เสรีภาพในความรัก “ผิดกฏหมาย” และเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย โดยการใช้กฏหมายที่อ้างอิงกับหลักศาสนาลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดกรอบทางเพศของสังคม เช่น จังหวัดอาเจะห์ของประเทศอินโดนีเซีย มีการลงโทษผู้ที่มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส หรือมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันด้วยความสมัครใจ โดยใช้วิธีเฆี่ยนในที่สาธารณะ[3] ปีที่ผ่านมา ประเทศบรูไนยังเคยพยายามบังคับใช้โทษประหารชีวิตโดยการปาหินกับผู้ที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน แต่ต้องประกาศระงับการบังคับใช้กฏหมายออกไปหลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างถล่มทลาย[4]
‘Love is Human Rights’ คือ ข้อความที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อยากส่งต่อและเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์ให้ทุกความรักได้รับการคุ้มครองบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน โดยลายสกรีนบน คอลเลคชั่นเสื้อและกระเป๋าของเราได้แรงบันดาลใจมาจากธงสีรุ้งที่โบกสะบัดในขบวนรณรงค์และหน้าสถานที่ซึ่งประกาศตัวเป็นมิตรกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในระดับภูมิภาคเอเชีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นหนึ่งในองค์กรภาคีที่ร่วมเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันให้มีการรับรองสิทธิของกลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะในฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งสมาชิกเป็นส่วนสำคัญในการริเริ่มและผลักดันเป้าหมายการรณรงค์
สำหรับแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยนั้น แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำงานรณรงค์และผลักดันกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มตัว แต่เราให้การสนับสนุนนักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นดังกล่าวหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะผ่านโครงการ Seed Fund หรือเงินทุนสนับสนุนตั้งต้นให้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานรณรงค์ โดยมีกลุ่มนอกกล่องเพศ (Non-Binary Thailand) ได้รับทุนดังกล่าวในปีที่ผ่านมา[5] หรือการสนับสนุน LGBT Pride โดยเข้าร่วมขบวนพาเหรด Chiang Mai Pride เป็นปีที่ 2 แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยยังเคยจัดกิจกรรม Pride ขนาดย่อมใจกลางกรุงเทพฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ “เขียน เปลี่ยน โลก” หรือ Write for Rights ปี 2017 เพื่อเป็นการฉลองชัยชนะของขบวนการเคลื่อนไหวในหลายประเทศที่มีการรับรองความเสมอภาคในการสมรสในปีนั้น[6]
สั่งซื้อสินค้าในคอลเล็คชั่นนี้
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิของความหลากหลายทางเพศ
ข้อมูลอ้างอิง
[1] https://www.amnesty.org/en/what-we-do/discrimination/lgbt-rights/
[2] https://www.amnesty.org/en/latest/news/2019/04/russia-two-years-after-chechnyas-gay-purge-victims-still-seek-justice-as-lgbti-defender-receives-death-threats/
[3] https://www.amnesty.org/en/latest/news/2017/05/indonesia-revoke-the-caning-sentence-of-gay-men-in-aceh/
[4] https://www.amnesty.org/en/latest/news/2019/05/brunei-darussalam-sultan-speech-first-step-repealing-heinous-laws/
[5] https://www.amnesty.or.th/latest/blog/716/
[6] https://twitter.com/AmnestyThailand/status/942372070100385792