"TeamBrave" คอลเลคชั่นเสื้อผ้ากีฬาที่ได้แรงบันดาลใจจากเหล่าผู้กล้าที่ยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม

Brave HRD

 

วงการกีฬาคือหนึ่งในแนวหน้าการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนของโลก โดยเฉพาะเมื่อการดูกีฬาเป็นทั้งมหรสพใหญ่ที่มีผู้ชมนับล้านคอยติดตาม และกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่คนสมัยใหม่ให้ความสนใจ

 

หนึ่งในมหกรรมกีฬาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและมีผู้คนตื่นเต้นรอคอยมากที่สุด คือ กีฬาโอลิมปิก แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสในปีนี้ จะทำให้โอลิมปิกโตเกียว 2020 ต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 ปี แต่กีฬาโอลิมปิกหลายครั้งในอดีต ถือเป็นเครื่องมือในการแสดงเจตจำนงและการผลักดันวาระสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ในปี 2015 ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลโธมัส บาช ได้ประกาศการก่อตั้ง “ทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย” ณ การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในเดือนตุลาคม ส่งผลให้มีนักกีฬาโอลิมปิก 10 คนสามารถเข้าแข่งขันในริโอ 2016 ในนาม Refugee Olympic Team (#TeamRefugees) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก[1] การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นสารสำคัญต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่เข้าขั้นวิกฤต โดยประมาณการว่าทั่วโลdกมีผู้ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดกว่า 68.5 ล้านคน นักกีฬาโอลิมปิกเหล่านี้ คือ ตัวแทนของความหวังและความกล้าหาญไม่ยอมแพ้

 

น่าสนใจว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมีบทบาทอย่างเป็นทางการในการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทั้งในและนอกวงการกีฬา โดยอ้างอิงจากกฏบัตรโอลิมปิกที่เขียนขึ้นบนหลักการพื้นฐานของความเป็นโอลิมปิก (Olympism) ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การไม่เลือกปฏิบัติทุกประการ ในปี 2014 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้อ้างอิงกฏบัตรดังกล่าว ยกข้อกังวลเรื่องการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติโดยไม่จ่ายค่าจ้างในการจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว Sochi 2014 ของประเทศรัสเซีย ส่งผลให้บริษัทกว่า 500 แห่งถูกตรวจสอบและคนงาน 6,000 คนได้รับค่าจ้างที่ควรได้รับรวม 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

 

นอกจากผู้ที่มีบทบาททางการแล้ว นักกิจกรรมคือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้โอกาสความสนใจของสื่อทั่วโลกที่จับจ้องมายังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ชูประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างที่พิธีการสำคัญมีการถ่ายทอดสด ย้อนไปในปี 2008 นักกิจกรรมสามคนจากกลุ่มช่างภาพไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ได้ขัดขวางการทำพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิก ณ ประเทศกรีซ เพื่อส่งมอบให้จีนเป็นเจ้าภาพ ในขณะที่จีนใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมประท้วงของชาวทิเบตด้วยความรุนแรง โดยช่องโทรทัศน์ในประเทศจีนได้ตัดภาพการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าวไม่ให้ออกอากาศทันที นักกิจกรรมคนอื่นๆ ยังได้ทำกิจรรมเชิงสัญลักษณ์โดยทาตัวสีแดงและนอนลงกับพื้นระหว่างทางที่มีการวิ่งคบเพลิง[3] 

 

นักกีฬา คือ อีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญที่สามารถสร้างจุดยืนอันแน่วแน่ให้กับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคม โดยที่หลายๆ คนต้องแลกกับอนาคตของอาชีพในวงการกีฬา บรรดานักกีฬาที่เคยแสดงจุดยืน ณ ห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์[4] ได้แก่ มูฮัมหมัด อาลี ที่ตัดสินใจไม่เข้าเกณฑ์ทหารร่วมรบในสงครามเวียดนามกับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาโดนจับกุมตัวแล้ว ยังถูกยึดเข็มขัดแชมป์โลกและใบอนุญาตชกมวยในอเมริกา รวมถึงโดนโจมตีด้วยกระแสไม่รักชาติ ระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการสังหารคนผิวดำโดยตำรวจช่วงปี 2559 โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกโจมตีด้วยกระแสชังชาติจนสูญเสียอนาคตการงาน ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลลีกระดับชาติปีนั้น โคลินได้คุกเข่าระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เพื่อให้ประเทศมีการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของทุกคน นักกีฬาระดับประเทศอีกหลายคนได้ร่วมแสดงจุดยืนเคียงข้างกับเขา ปัจจุบันโคลินได้ก่อตั้งมูลนิธิในนามตนเอง เพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทุกรูปแบบทั่วโลก โดยที่เขาได้รับรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2561

 

ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแคมเปญ “ไม่ว่าอยู่ทีมไหนก็ร่วม #SaveHakeem ได้!” เพื่อคัดค้านไม่ให้รัฐบาลไทยส่งตัวฮาคีม อัล-อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย เคยถูกคุมขังและทรมาน กลับไปยังบาห์เรนตามหมายแดงขององค์การตำรวจสากล (Interpol) ที่มีความผิดปกติ เนื่องจากฮาคีมมีสถานะลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย โดยมีวงการกีฬาในออสเตรเลีย ได้แก่ Craig Foster อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลีย (Socceroos), สหภาพนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ (Professional Footballer Australia - PFA) แม้แต่สองนักดำน้ำชาวออสซี่ที่เคยช่วยทีมหมูป่าจากปฏิบัติการถ้ำหลวง เป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์กดดันรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวฮาคีมกลับบ้าน และมีการรณรงค์ส่งจดหมายออนไลน์ถึงรัฐบาลไทยบนเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ฯ ออสเตรเลียซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากถึง 63,958 ครั้งเข้าผนวกกำลังอีกทางหนึ่ง[5] นอกโลกออนไลน์ #SaveHakeem ยังปรากฏตัวตามท้องถนนในออสเตรเลียจากแฟนฟุตบอลในเมลเบิร์นที่รอให้เขาลงสนามอีกครั้ง และยังเป็นส่วนหนึ่งในขบวนล้อการเมืองจุฬา-ธรรมศาสตร์ในปีนั้นด้วย[6]

 

TeamBrave คือ คอลเลคชั่นเสื้อผ้ากีฬาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหล่าผู้กล้าที่ยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม และเชื่อมั่นว่าสังคมที่ดีกว่าได้มาด้วยการต่อสู้และลงมือทำ ตัวอักษร Brave ซึ่งคล้ายกับบล็อคพ่นสีสเปรย์ คือ คำสดุดีแด่นักกิจกรรมที่กล้าโต้แย้งกับสิ่งผิด   แม้จะมีความเสี่ยง แต่สร้างสรรค์และเป็นไปอย่างสันติ “Brave” คือ หนึ่งในแคมเปญระดับโลกของแอมเนสตี้ฯ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานภายใต้ความเสี่ยงนานัปการ เพื่อเปิดเผยและรณรงค์ให้เกิดความยุติธรรมและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของคนทุกคน

 

 

[1] https://www.amnesty.ca/blog/cheer-first-ever-refugee-olympic-team

[2] https://www.olympic.org/news/human-rights-and-sport

[3] https://www.theguardian.com/world/2008/mar/24/tibet.olympicgames2008

[4] https://www.amnesty.or.th/latest/blog/658/

[5] https://action.amnesty.org.au/act-now/savehakeem-tell-thailand-to-release-refugee-footballer?fbclid=IwAR0eJ6qFLMvfhcUvNQJeYA_6C6Efcr2nfJtNliS6bR9ZZfAtp2bNnvy5024

[6] https://www.facebook.com/AmnestyThailand/posts/2569102773116799/


Older Post Newer Post